คำว่า “วัยทอง” สาว ๆ หลายคนคงอยากจะปิดหู ปิดตา ไม่ได้ยิน ไม่อยากรับรู้เรื่องเหล่านี้ ทำเป็นลืมๆไปซะ ทั้งๆที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกาย และจิตใจตามธรรมชาติ สักวันหนึ่งสาวๆทุกคนต้องพบกับ ภาวะวัยทองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้แต่คนเดียว
“วัยทอง” หรือ Menopause หมายถึง วัยที่ผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเพศ คือ เอสโตรเจน โดยปกติผู้หญิงเมื่อก้าวสู่วัยสาวจะมีลักษณะแสดงความเป็นหญิง เช่น ผิวพรรณผุดผ่อง มีเต้านม สะโพกผาย เจริญพันธุ์ได้ เพราะมีการทำงานของรังไข่ ซึ่งเป็นตัวสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน สารเคมี เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของรังไข่ก็จะเริ่มทำงานน้อยลง และหยุดทำงานในที่สุด ทำให้เกิดภาวะขาดฮอร์โมน เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
ผู้หญิงที่ย่างเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ
1. ช่วงที่ 1 เรียกว่า Premenopause ระยะนี้เป็นระยะที่ประจำเดือนมาไม่ค่อยสม่ำเสมอ ขาด ๆ หาย ๆ ไปบ้าง จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นเมื่ออายุย่างเข้า 40-45 ปี
2. ช่วงที่ 2 เรียกว่า Perimenopause เป็นช่วงเวลาที่เริ่มหมดประจำเดือน โดยประจำเดือนจะเริ่มมาไม่สม่ำเสมอมากขึ้น และอาจขาด ๆ หาย ๆ ไปเป็นช่วงเวลานานขึ้น โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 45-47 ปีและประจำเดือนขาดหายไปในที่สุดในช่วงอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป (ซึ่งเราจะตัดสินว่าจะหมดประเดือนจริงๆ ก็ต่อเมื่อขาดหายต่อเนื่องจนครบ 12 เดือนหรือ 1 ปี)
การเปลี่ยนแปลงที่จะสังเกตุได้มีดังต่อไปนี้
1. ร้อนวูบวาบตามตัว มีเหงื่อออกในตอนกลางคืน
2. นอนไม่หลับหรือหลับยากขึ้น ตื่นเร็ว
3. มีอารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย อ่อนไหว ในบางคนอาจมีอาการซึมเศร้าโดยไม่ทราบสาเหตุ
4. เกิดความเบื่อหน่าย โดยเฉพาะเรื่องเพศ เนื่องมากจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงทำให้เยื่อบุช่องคลอดแห้ง และบางลง เมื่อมีเพศสัมพันธ์จะทำให้มีอาการปวด และติดเชื้อในช่องคลอดง่าย
5. มีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจาม
6. เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระ เช่น อ้วนขึ้น มีพุง กล้ามเนื้อลดลง มีไขมันเพิ่มมากขึ้น ผิวหนังเริ่มเหี่ยว และหย่อนยาน
7. หลงลืม โดยเฉพาะความจำในระยะสั้น เช่น จำไม่ได้ว่าวางของไว้ที่ไหน หรือ จำไม่ได้ว่ารับประทานยาแล้วหรือยัง แต่จะไม่ลืมเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เป็นความจำในระยะยาว เช่น วันแต่งงาน เป็นต้น
8. ปัญหาอื่น ๆ เช่น อาการปวดศรีษะ เวียนศรีษะ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเข้าสู่วัยทองจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แต่ในบางคนที่มีอาการที่รุนแรงหรือมีอาการก่อนวัยอันควร อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมทางร่างกายและจิตใจ สารเคมี ภาวะโภชนาการ กรรมพันธุ์
วันที่: Mon Dec 23 22:26:12 ICT 2024
|
|
|